สัญญาจะซื้อ จะขาย คืออะไร แล้วสำคัญอย่างไร
1. สัญญาจะซื้อจะขาย มักใช้กับนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กฎหมายกำหนดว่าต้อง “ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” แปลง่ายๆว่า ให้ทำเป็นหนังสือสัญญานั้นแหละและไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาค่อนข้างสูงคนส่วนใหญ่จึงมักจะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนและไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหลัง ซึ่งอาจมีการวางมัดจำหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง แต่ส่วนใหญ่มักจะมี เผื่อว่าผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ทำการซื้อตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ขายก็สามารถริบเงินมัดจำนั้นได้
.
2. สัญญาจะซื้อจะขายถือเป็นหลักฐานสำคัญในการใช้สิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาล ในกรณีที่มีข้อพิพาทกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ขายผิดสัญญาไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ หรือผู้ซื้อไม่ชำระราคาหรือชำระราคาไม่ครบถ้วนก็ตาม หากต้องการฟ้องร้องคดีต่อศาลกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในการฟ้องคดีไว้ 3 ประการ ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ “การทำหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ” โดยหลักฐานเป็นหนังสือนั้นไม่จำกัดเฉพาะหนังสือสัญญาเพียงอย่างเดียว อาจเป็นจดหมายตอบโต้กันก็ได้ ซึ่งอาจมีฉบับเดียวหรือหลายฉบับรวมกันก็ได้ และต้องมีลายมือชื่อของจำเลยเซ็นเอาไว้ด้วย มิฉะนั้นแล้วแม้จะเสียหายมากเพียงใด เราก็ฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้ ถึงฟ้องได้ศาลก็ยกฟ้อง แถมนำสืบพยานบุคคลแทนก็ไม่ได้อีกต่างหาก ฉะนั้น สัญญาจะซื้อจะขายควรทำคู่ฉบับให้เพียงพอกับคู่สัญญาทุกคน แล้วเก็บเอาไว้ให้ดี
.
3. สัญญาจะซื้อจะขายต้องมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินกันในภายหลัง หัวใจสำคัญที่จะบ่งบอกว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ ก็คือ สัญญานั้นมีข้อความทำนองว่า “คู่สัญญาตกลงกันไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในบ้าน หรือที่ดิน หรือบ้านพร้อมที่ดินอะไรก็ว่าไป กันในวันที่เท่านั้นเท่านี้ โดยผู้ซื้อจะชำราคาให้แก่ผู้ขายทั้งหมดในวันดังกล่าว” เป็นต้น หากมีข้อความประมาณนี้ในสัญญาให้ตีความได้เลยว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแน่นอน เพราะคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิหน้าที่ระหว่างกันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญากันอยู่อีก โดยผู้ซื้อก็มีหน้าที่ชำระราคาให้แก่ผู้ขาย ส่วนผู้ขายที่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆให้กับผู้ซื้อ เป็นต้น
.
4. ถ้าไม่มีข้อตกลงเรื่องการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กฎหมายถือว่าเป็น “สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” และเมื่อไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ในกรณีที่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันว่าจะไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สำนักงานที่ดินภายหลัง คำพิพากษาศาลฎีกาส่วนมากได้วางบรรทัดฐานเอาไว้ว่า สัญญาดังกล่าวนั้นคือ “สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” ไม่ใช่ “สัญญาจะซื้อจะขาย” เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างไม่ได้มีพันธะใดๆต่อกันที่จะปฏิบัติตามสัญญาอีกต่อไป เมื่อสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้นไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนด สัญญาซื้อขายนั้น ย่อมตกเป็นโมฆะ
.
ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่..
.
– web : https://haabaandee.com/
– Line :
– IG :
– Tiktok :
– Twitter :
– Youtube :
– blogspot :
– facebook :
– blockdit :
– pinterest :
#habaandee, #เว็บไซต์ธุรกิจ, #ธุรกิจ, #เว็บไซต์, #แพลตฟอร์ม, #businessplatform,