แก้ปัญหากลิ่นในห้องน้ำอย่างไรให้ตรงจุด
“กลิ่น…เป็นปัญหารบกวนใจเราเสมอมา โดยเฉพาะกลิ่นในห้องน้ำที่เราทุกคนอยากจะขจัดให้หมดไป หากเป็นห้องน้ำในห้องนอนด้วยแล้ว ยิ่งต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด จะแก้ไขอย่างไร ก็ต้องรู้ก่อนว่า ที่มาของกลิ่นนั้นมาจากไหน ถึงจะแก้ไขให้ไร้กลิ่นกวนใจได้ตรงจุด”
กลิ่นมาจากท่อระบายน้ำที่พื้น ให้ติดอุปกรณ์กันกลิ่น และหมั่นถอดล้างทำความสะอาด การเดินท่อระบายน้ำที่พื้นอย่างถูกวิธี จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ดักกลิ่นในตัว จุดแรกคือตะแกรงระบายน้ำที่พื้น (Floor Drain) และ อีกจุดคือส่วนข้องอดักกลิ่นแบบ U-Trap หรือ P-Trap หากมีกลิ่นมาจากท่อระบายน้ำ เราสามารถตรวจเช็คเบื้องต้นเองว่าบ้านเรามีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่ ดังนี้
1. สังเกตว่าเป็นตะแกรงกันกลิ่นหรือไม่ ถ้าเป็นตะแกรงกันกลิ่น ให้สังเกตว่ามีน้ำอยู่ในตะแกรงมั้ย ถ้าไม่มีให้ถอดออกมาล้างทำความสะอาดและเทน้ำลงไป ถ้าไม่ใช่ตะแกรงกันกลิ่น ให้เปลี่ยนเป็นตะแกรงกันกลิ่นแทน
2. ตรวจเช็ค U-Trap หรือ P-Trap ของห้องน้ำชั้นบน โดยเปิดฝ้าเพดานของชั้นล่างดูว่ามีข้องอหรือท่อดักกลิ่นแบบ U-Trap หรือ P-Trap หรือไม่
กลิ่นขึ้นมาจากท่อน้ำอ่างล้างหน้า ให้ถอดท่อดักกลิ่นออกมาล้างทำความสะอาด
ใต้อ่างล้างหน้าจะมีท่อน้ำทิ้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกระปุก หรือรูปตัว P ก็สามารถดักกลิ่นได้ทั้งคู่ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นเท่าไรนัก เว้นแต่กรณีมีเศษสิ่งสกปรกตกลงไปหมักหมมนานๆ จนอาจอุดตัน และเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ไหลย้อนขึ้นมา ซึ่งปัญหารบกวนจมูกนี้เราสามารถแก้ได้โดยถอดท่อดักกลิ่นออกมาล้างทำความสะอาด กลิ่นเหล่านี้ก็จะหมดไป
กลิ่นจากโถสุขภัณฑ์ชาย ให้ล้างทำความสะอาดทั้งโถ และท่อระบายน้ำใต้โถสุขภัณฑ์
จะคล้ายกับอ่างล้างหน้าตรงที่มีท่อระบายน้ำใต้สุขภัณฑ์ ซึ่งเป็นท่อดักกลิ่นในตัว หากหลังจากใช้งานมีการกดน้ำชำระล้างไม่สะอาดหมดจด ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหากลิ่นได้ แนะนำให้ล้างทำความสะอาดก่อน หากกลิ่นยังอยู่ ควรถอดชุดดักกลิ่นออกมาล้างทำความสะอาดด้วย
กลิ่นจากโถสุขภัณฑ์ แก้จากวิธีที่ง่ายที่สุดก่อน คือการเติมจุลินทรีย์ ถ้ายังไม่หายต้องเรียกช่างมาแก้ไขให้
โถสุขภัณฑ์มีการออกแบบให้สามารถกันกลิ่นได้ในตัว ในลักษณะคอห่านของโถสุขภัณฑ์ แต่หากเกิดกลิ่นขึ้น อาจเป็นไปได้ดังนี้
1. ถังบำบัดไม่บำบัด อาจเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ตาย เนื่องจากใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่มีกรดเยอะๆ ต้องซื้อจุลินทรีย์มาเติมเพิ่มลงไป
2. การติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน หรือผิดวิธีจากที่ผู้ผลิตกำหนด เช่น
– ใส่อุปกรณ์ไม่ครบ โดยเฉพาะ “ปะเก็นกันซึม” หรือ “ปะเก็นกันกลิ่น” หรือ “ปะเก็นขี้ผึ้ง” หรือ “ปะเก็นแว็กซ์” (มีเนื้อเหมือนขี้ผึ้งเหนียวๆ ลักษณะเป็นวงแหวนขนาดพอดีกับท่อสุขภัณฑ์ มีหน้าที่ป้องกันกลิ่นเล็ดลอดออกมาตามจุดรอยต่อของท่อและสุขภัณฑ์ บ่อยครั้งที่ช่างมักละเลยไม่ติดไปด้วย กลิ่นจึงลอยออกมา) ต้องให้ช่างมารื้อสุขภัณฑ์ออกแล้วติดตั้งใหม่โดยใส่ปะเก็นกันซึมเข้าไปด้วย
– อุดปูนหรือยาแนวรอบโถสุขภัณฑ์ไม่ดีพอหรือผิดวิธี หรืออาจเกิดการกระเทาะของปูนบริเวณรอบฐานสุขภัณฑ์ แนะนำให้ช่างมาแก้ไขให้ใหม่
– การวางระบบท่อไม่ดีพอ เช่น ท่อมีความลาดเอียงไม่เหมาะสมเกิดการขังค้างสะสม ไม่มีท่อระบายอากาศหรือการวางระบบท่อระบายอากาศของบ่อเกรอะไม่ดีพอ ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญมาแก้ไขวางระบบท่อใหม่
3. ไม่มีการติดตั้งท่ออากาศ หรือ ท่อระบายอากาศอุดตัน ทำให้กลิ่นย้อนเข้ามาทางสุขภัณฑ์ แก้ไขโดยติดตั้งท่อระบายอากาศให้ปลายท่ออยู่สูงกว่าระดับน้ำ และหมั่นทำความสะอาดไม่ให้มีสิ่งอุดตันภายในท่อระบายอากาศ
การป้องกันปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เริ่มได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างบ้าน มีทีมช่างที่ติดตั้งอย่างถูกวิธี ที่สำคัญคือ หมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นมากวนใจเราไปอีกนาน
.
ขอขอบคุณข้อมูล : scgbuildingmaterials
.
ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่..
.
– web : https://haabaandee.com/
– Line :
– IG :
– Tiktok :
– Twitter :
– Youtube :
– blogspot :
– facebook :
– blockdit :
– pinterest :
#haabaandee, #เว็บไซต์ธุรกิจ, #ธุรกิจ, #เว็บไซต์, #แพลตฟอร์ม, #businessplatform,