4 แนวทางสร้างบ้านใหม่
“การจะได้บ้านหลังใหม่นั้นมี 4 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางที่ง่ายดายหรือหลายขั้นตอน ต่างมีข้อดีและข้อควรคำนึงที่แตกต่างกัน เราจึงควรเลือกวิธีที่สร้างบ้านเหมาะสมและสามารถตอบโจทย์เราได้ดีที่สุด”
เมื่อเราตัดสินใจจะสร้างบ้านใหม่สักหนึ่งหลัง และได้รวบรวมความต้องการของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน ตั้งงบประมาณในใจ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาโดยประมาณที่บ้านจะสร้างเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาสำหรับการเตรียม “แบบบ้าน” หรือ “แบบก่อสร้าง” ไปจนถึง การตัดสินใจเรื่องแนวทางการก่อสร้างบ้าน ก่อนจะดำเนินการยื่นขออนุญาตและลงมือก่อสร้างบ้านในขั้นตอนต่อไป
4 แนวทางในการได้แบบบ้านและสร้างบ้านใหม่ ได้แก่ การใช้บริการทีมสถาปนิกออกแบบและจัดหาผู้รับเหมา การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน การใช้แบบบ้านฟรีหรือซื้อแบบบ้านและจัดหาผู้รับเหมา และก ารซื้อบ้านสำเร็จรูป ซึ่งแต่ละวิธีก็มี ข้อดีและข้อควรคำนึงที่แตกต่างกันไป
1. การใช้บริการทีมสถาปนิกออกแบบและจัดหาผู้รับเหมาสร้างบ้าน
การใช้บริการหรือว่าจ้างทีมสถาปนิกออกแบบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของบริษัทออกแบบหรือสถาปนิกอิสระ ทำให้เราได้แบบบ้านที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและลักษณะเฉพาะตัวของที่ดินแต่ละผืน ผังตัวบ้านเหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางแดดลม ตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตของสมาชิกในบ้านได้มากกว่าแบบอื่นๆ และมีรูปแบบไม่ซ้ำใคร ซึ่งสถาปนิกจะออกแบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้าน เช่น ความสูงอาคาร ระยะถอยร่น และการเว้นที่ว่างโดยรอบอาคาร โดยจะทำงานประสานกับวิศวกรที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานโครงสร้าง งานระบบไฟฟ้า ระบบประปาสุขาภิบาล ฯลฯ เพื่อให้ได้แบบก่อสร้างที่สมบูรณ์ พร้อมลงนามรับรองแบบเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน รวมถึง*จัดทำเอกสารราคากลางค่าก่อสร้าง เป็นที่ปรึกษาตลอดช่วงเวลาการก่อสร้าง และ*เข้ามาดูงานก่อสร้างเป็นระยะ (*ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง)
สำหรับแนวทางนี้ เจ้าของบ้านจะต้องเผื่อเวลาช่วงการออกแบบและจัดทำแบบ รวมถึงเตรียมงบประมาณสำหรับค่าบริการก่อสร้างบ้านตามมาตรฐานวิชาชีพด้วย นอกจากนี้ ต้องจัดหาผู้รับเหมาและผู้ควบคุมการสร้างบ้านเอง โดยสถาปนิกจะเป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือก และในระหว่างงานก่อสร้างควรหลีกเลี่ยงการปรับแก้แบบจากแบบก่อสร้างที่จัดทำไว้ เพื่อควบคุมงบประมาณให้เป็นไปตามที่กำหนด (ควรปรับแก้แบบจนเป็นที่พอใจมากที่สุดก่อนลงมือก่อสร้าง)
*ควรเลือกสถาปนิกและวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่องานที่มีมาตรฐาน
2. การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน
อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของบ้านคือการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านซึ่งเป็นบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา จัดทำแบบ และก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์เป็นบ้านหนึ่งหลัง มีทั้งสถาปนิก วิศวกร และทีมงานก่อสร้างครบถ้วน แต่ละบริษัทรับสร้างบ้านอาจจะมีวิธีการก่อสร้างที่แตกต่างกัน หรือมีความเฉพาะตัว เช่น บ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบโครงสร้างสำเร็จรูป บ้านประหยัดพลังงานที่ใช้วัสดุลดความร้อน บ้านระบบโมดูลาร์ เป็นต้น
บริษัทรับสร้างบ้านจะมีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือมีแบบบ้านสำเร็จรูปที่ออกแบบไว้แล้วให้เลือก และสร้างบ้านตามแบบนั้นๆ เจ้าของบ้านไม่สามารถปรับแก้แบบได้ หรืออาจทำได้เพียงเล็กน้อย โดยแต่ละแบบจะมีหลายราคาตามสเปควัสดุที่เลือกใช้ ส่วนรูปแบบที่สองคือมีบริการออกแบบโดยสถาปนิกและก่อสร้างตามแบบ แต่แบบบ้านที่ได้อาจไม่หวือหวาหรือมีแนวคิดโดดเด่นมากนัก เพราะต้องยึดตามวิธีการก่อสร้างบ้านที่บริษัทชำนาญเป็นหลัก
แนวทางนี้มีข้อดีคือ สามารถคุมงบประมาณได้ค่อนข้างแน่นอน เจ้าของบ้านติดต่อกับบริษัทรับสร้างบ้านที่เดียวจบ ไม่ต้องจัดหาผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงานก่อสร้างเอง แต่ควรหาที่ปรึกษาคนกลางระหว่างเรากับบริษัทเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้การสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น
*ควรเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความน่าเชื่อถือ มีประวัติผลงานที่ดี
3. การใช้แบบบ้านฟรี / ซื้อแบบบ้านและจัดหาผู้รับเหมา
แบบบ้านฟรีคือแบบบ้านที่เราได้มาจากแหล่งต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ละแบบอาจมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน แบบที่ไม่ละเอียดอาจจะมีเพียงแบบแปลนแต่ละชั้น รูปตัด รูปด้าน ภาพสามมิติหรือทัศนียภาพ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบบสถาปัตยกรรมที่ยังขาดรายละเอียดอีกมาก และยังไม่มีแบบโครงสร้างและแบบงานระบบที่เกี่ยวข้องด้วย จึงยังไม่สามารถนำไปใช้สร้างบ้านได้ จะต้องว่าจ้างทีมออกแบบให้พัฒนาแบบและจัดทำแบบก่อสร้างเพิ่มเติม ส่วน แบบที่มีรายละเอียดครบถ้วน ส่วนใหญ่จะสามารถนำไปก่อสร้างได้ โดยอาจมีการปรับแบบบางส่วนเพื่อให้เหมาะกับสภาพที่ดินของเรา สำหรับ แบบบ้านที่เราซื้อมา จะเป็น แบบบ้านที่มีรายละเอียดครบถ้วน สามารถนำไปก่อสร้างบ้านได้จริงเช่นกัน โดยสามารถเลือกซื้อ เอกสารราคากลางค่าก่อสร้าง (BOQ) เพิ่มเติมได้ เพื่อนำไปให้ผู้รับเหมาประกวดราคาค่าก่อสร้าง
ทั้งแบบบ้านฟรีและแบบบ้านซื้อ ส่วนใหญ่จะให้มาพร้อมค่าก่อสร้างที่ทำให้เรารู้งบประมาณคร่าวๆ ได้ แนวทางนี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องแบบก่อสร้างลง และยัง มีแบบบ้านที่มองเห็นภาพชัดเจนให้เลือกมากมาย แต่ แบบบ้านที่ได้ก็อาจจะไม่เหมาะสมลงตัวกับที่ดินของเรา หรืออาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกทุกคนในบ้านได้ครบถ้วน หลังจากเราได้แบบบ้านที่พร้อมก่อสร้างแล้ว จะต้องจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ควบคุมงานก่อสร้างที่ไว้ใจได้ (เช่นเดียวกับแนวทางการใช้บริการสถาปนิกออกแบบ) เพื่อให้เป็นไปตามแบบก่อสร้างและตามแผนงานที่กำหนด ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกแบบบ้านที่ต้องการ เจ้าของบ้านควรศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายควบคุมอาคารโดยเฉพาะเรื่องระยะถอยร่นต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคัดเลือกแบบบ้านในเบื้องต้น
*หากแบบบ้านที่ได้มามีการออกแบบโครงสร้างใต้ดินไว้แล้ว ควรให้วิศวกรพิจารณาอีกครั้งว่าเหมาะกับสภาพหรือลักษณะดินในพื้นที่ของเราหรือไม่
4. การซื้อบ้านสำเร็จรูป
“บ้านสำเร็จรูป” หรือที่เรียกกันว่า บ้านพรีแฟบ (Prefab) บ้านน็อคดาวน์ (Knock Down) เป็นบ้านที่ผลิตชิ้นส่วนจากโรงงาน และนำมาติดตั้งหรือประกอบในพื้นที่ก่อสร้าง สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ควบคุมงบประมาณได้ดี โครงสร้างบ้านมักเป็นวัสดุเบาอย่าง เหล็ก ไม้ หรืออาจเป็นบ้านที่ปรับจากตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ เจ้าของบ้านมักจะต้องเตรียมโครงสร้างใต้ดิน (เสาเข็ม ฐานราก) ระบบไฟฟ้า และระบบประปาสุขาภิบาลรองรับไว้ก่อน
สำหรับบ้านสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่แล้วจะ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแบบบ้านหรือโครงสร้างบ้านได้ รวมถึงวัสดุก่อสร้างก็มักจะถูกกำหนดตายตัวเป็นมาตรฐาน เจ้าของบ้านอาจเปลี่ยนได้เพียงสีสัน หรือรุ่นของวัสดุตามที่บริษัทกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ควรพิจารณาเรื่องที่ตั้งหรือไซต์ก่อสร้างว่ารถหกล้อหรือรถเครนสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ เนื่องจากจะต้องใช้รถหกล้อหรือรถเครนที่มีขนาดใหญ่ในการขนส่งบ้าน หรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาประกอบเป็นบ้าน มีความสะดวกในการเดินทางขนส่งมากน้อยเพียงใด เพราะหากอยู่ในซอยลึก ถนนแคบ เข้าถึงยาก จะไม่เหมาะกับบ้านสำเร็จรูป รวมถึงพิจารณาข้อจำกัดหากต้องการปรับปรุงหรือต่อเติมโครงสร้างบ้านในอนาคต
เมื่อตัดสินใจเลือกวิธีการจนได้แบบบ้านหรือแบบก่อสร้างที่สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถเตรียมตัวสำหรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน และหาผู้รับเหมาได้เลย
**การยื่นขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับบ้านพักอาศัยไม่เกินสองชั้นและมีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องแนบแบบก่อสร้างในการขออนุญาตก่อสร้างก็ได้ โดยแนบเฉพาะผังบริเวณแสดงที่ตั้งอาคารโดยสังเขป และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน พร้อมใบคำขออนุญาตก่อสร้าง และไม่จำเป็นต้องมีสถาปนิกควบคุมงาน
แต่ละทางเลือกในการสร้างบ้านใหม่นั้นมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อที่ควรคำนึงถึง จึงควรปรึกษาสมาชิกในบ้านถึงความต้องการ และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจสร้างบ้าน เพื่อให้ได้โครงสร้างบ้านที่มั่นคงและแบบบ้านที่สวยถูกใจ ตรงกับงบประมาณและความต้องการของทุกคนที่สุด
.
ขอขอบคุณข้อมูล : scgbuildingmaterials
.
ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่..
.
– web : https://haabaandee.com/
– Line :
– IG :
– Tiktok :
– Twitter :
– Youtube :
– blogspot :
– facebook :
– blockdit :
– pinterest :
#haabaandee, #เว็บไซต์ธุรกิจ, #ธุรกิจ, #เว็บไซต์, #แพลตฟอร์ม, #businessplatform,